2555-03-08

เทคนิดการใช้สีน้ำ

เทคนิคการใช้สีน้ำ

เทคนิดพื้นฐาน 5 อย่างนี้จะทำให้เพื่อนๆหรือผู้ที่เริ่มต้นรู้จักสีน้ำมากขึ้น และสามารถนำไปสร้างผลงานศิลปะด้วยสีน้ำที่สวยงามได้อย่างแน่นอนค่ะ

การระบายแบบเปียกบนเปียก (Wet on Wet) คือสีเปียก(สีผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษเปียก (กระดาษที่ระบายน้ำหรือน้ำสีไว้แล้ว วิธีการคือ ใช้พู่กันจุ่มสี(ค่อนข้างข้น) แตะแต้มบนกระดาษที่เปืยกอยู่แล้วตามด้วยสีอื่น สีจะไหลซึม รุกรานเข้าหากันอย่างกลมกลืนและมีส่วนเกิดเป็นสีใหม่เพิ่มขึ้นมา
ถ้าทำบนกระดาษเปียกชุ่ม สีจะรุกรานกันรวดเร็วและนุ่มนวล เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายท้องฟ้า หรือน้ำทะเลได้
ถ้าทำบนกระดาษเปียก สีจะรุกรานไม่มากแต่ยังคงผสมผสานกลมกลืนกันดี เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายเป็นพวกวัตถุรูปทรงทั่วไปได้
ถ้าทำบนกระดาษหมาด สีจะผสมผสานกลมกลืนกันน้อย เห็นการแยกสัดส่วนชัดเจนกว่า เทคนิคนี้นำไปใช้สร้างพื้นผิวแสดงความแตกต่าง ไม่เรียบ

ระบายแบบเปียกบนแห้ง (Wet on Dry)
เป็นลักษณะการระบายเรียบโดยใช้สี (ผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษแห้งมี 3 รูปแบบดังนี้

ระบายเรียบสีเดียว (Flat wash) โดยใช้พู่กันจุ่มสีระบายไปตามแนวนอนบนกระดาษที่เอียงเล็กน้อยให้น้ำสีไหลลงไปกองข้างล่างแล้วระบายต่อเนื่องกันลงไปจนจบ การระบายครั้งต่อไปให้ต่อที่ใต้คราบน้ำที่ยังเปียกอยู่ ผลที่ได้คือสีจะใส เรียบสม่ำเสมอ ระวัง อย่านำพู่กันไปจุ่มน้ำ หรือเติมน้ำลงในสี ระหว่างทำงานเพราะจะทำให้สีที่ได้ไม่เรียบเกิดเป็นขั้นได้

ระบายเรียบหลายสี(colour wash) ทำเหมือนกับระบายเรียบสีเดียวแต่เมื่อจบสีที่ 1 แล้วให้ระบายสีที่ 2 ต่อที่ใต้คราบน้ำขณะที่เปียกอยู่ ผลที่ได้คือสีต่างๆจะมีการผสมผสานกลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง หมายเหตุทั้งการระบายเรียบสีเดียว และหลายสีเป็นพื้นฐานของงานสีน้ำที่นำไปใช้ระบายให้เกิดภาพแล้วแต่ว่าจะให้เป็นสีเดียว หรือหลายสีเช่น ภาพคนใส่เสื้อผ้าก็ต้องเป็นระบายเรียบหลายสี

ระบายเรียบอ่อนแก่(Grade wash) เป็นการระบายให้เกิดค่าน้ำหนักของสี จะเริ่มจากอ่อนไปหาแก่หรือ จากแก่ไปหาอ่อนก็ได้ ถ้าเริ่มจากแก่ไปหาอ่อนก็ผสมสีให้ข้นกว่าปกติ แล้วระบายเรียบได้ช่วงหนึ่งให้ล้างพู่กันจนสะอาดแล้วจุ่มน้ำมาระบายใต้คราบน้ำเป็นระยะๆให้สีจางลงไปเรื่อยๆ ถ้าเริ่มจากอ่อนไปหาแก่ ให้ผสมสีเจือจางแล้วระบายเรียบไปช่วงหนึง ก้เพิ่มสีให้มีความเข้มข้นขึ้น แล้วระบายต่อใต้คราบน้ำลงมาเป็นระยะๆให้สีเข้มขึ้น การระบายเรียบอ่อนแก่ เป็นเทคนิคที่นำไปใช้ให้เกิดมิติ แสง-เงา
การระบายแบบแห้งบนแห้ง(Dry on Dry) เป็นการระบายสีข้นๆบนกระดาษแห้งในลักษณะต่างๆเช่น แตะ แต้ม ขีด เขียน ลากเส้นอย่างรวดเร็วประกอบกับการใช้ส่วนต่างๆของพู่กันคือปลายบ้าง โคนบ้างเพื่อให้เกิดเป็นลักษณะต่างๆ เทคนิคนี้นำไปใช้เน้นเพื่อเพิ่มรายละเอียดของภาพ เช่นเมื่อเราทำภาพตัวบ้านเสร็จแล้วเราก็มาใส่ประตู หน้าต่างด้วยการใช้สีข้นๆ แตะ แต้มลงไป เราก็จะได้รายละเอียดของภาพแบบ Dry on Dry

การระบายเคลือบ(Glazing) เป็นการระบายทับซ้ำสีที่แห้งสนิทแล้วด้วยสีเดิมที่เข้มกว่า โดยสีที่ระบายเคลือบนี้ควรต้องเป็นสีโปร่งแสง ผลที่ได้คือส่วนที่ระบายเคลือบจะเป็นพื้นและส่วนที่เว้นไว้จะเป็นรูป ซึ่งรูปกับพื้นนี้จะมีความขัดแย้งหรือตัดกันเสมอคือถ้าพื้นเข้มรูปต้องอ่อน ถ้าพื้นอ่อนรูปต้องเข้ม เทคนิคการระบายเคลือบนี้นำไปใช้สร้างรูปทรง ผลักระยะให้ลึกตื้น สร้างเงา ลดความจัดจ้านของสีบรรยากาศ

การระบายขอบคมชัดและเรือนราง(Hard Edge/Soft Edge)
Hard Edge เป็นการระบายให้เกิดการตัดกัน แบ่งขอบเขตระหว่างรูปกับพื้นหรือพื้นกับรูปอย่างชัดเจน หรือให้เกิดเป็นเหลี่ยมเป็นสัน วิธีการคือ ระบายเป็นขอบตามที่ต้องการแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำให้เกิดการกลมกลืน เช่นกรณีเขียนภาพทิวทัศน์ที่มีบ้านในสวน เราให้ส่วนที่เป็นหลังเว้นขาวไว้เพราะเป็นส่วนที่รับแสง ถัดจากหลังคาไปเป็นบรรยากาศก็ให้ใช้สีของบรรยากาศเพิ่มความเข้มระบายกดระยะลงไปเป็น Hard Edge หรือให้ตัวบ้านและบรรยากาศโดยรอบตัดกันเป็นขอบคมชัด แยกสัดส่วนกันเพื่อให้บ้านดูลอยเด่นขึ้นมา
Soft Edge คือการเจือจางขอบเขตระหว่างพื้นกับรูปบางส่วนให้ดูกลมกลืนกัน วิธีการใช้น้ำมา soft ตรงเส้นขอบให้เกิดการเจือจาง เทคนิคนี้ใช้ในกรณีที่ต้องการลดความขัดแย้งให้เกิดการกลมกลืน เช่นกรณีระบายภาพคลื่นในทะเล บางจุดของคลื่นจะมีน้ำทะเลตัดกับฟองอย่างชัดเจน และบางจุดที่ต่อเนื่องจะมีความกลมกลืนกัน เพราะฟองคลายตัวลงหรืออาจเป็นส่วนที่รับแสง ตรงส่วนนี้ให้เรา soft edge  โดยใช้น้ำมา soft เพื่อละลายเส้นขอบแสดงความกลมกลืนได้

ที่มา http://www.thaigoodview.com/node/10611 สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น